มารี กูรี :
นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้มีจิตใจอันประเสริฐ
นับเป็นเวลากว่า 4 ปีที่ มารี กูรี นักเคมีเชื้อชาติโปแลนด์ กับสามีชื่อปิแอร์ ทำงานจนแทบจะสิ้นแรงอยู่ในโรงไม้ขนาดใหญ่ที่ทรุดโทรมใกล้ ๆ ที่อยู่อาศัยของคนทั้ง 2 ในกรุงปารีส จนกระทั่งกลางดึกคืนหนึ่งในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1902 จึงค้นพบธาตุกัมมันตรังสี ซึ่งคนทั้ง 2 ให้ชื่อว่า “เรเดียม” (radium) จากคำว่า ราดิอุส (radius) ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า รังสี
เรเดียมใช้รักษามะเร็งบางชนิดได้ผลเป็นครั้งแรกโดยการยิงกระหน่ำด้วยอนุภาคกัมมันตรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
ตลอดวันอันเป็นประวัติศาสตร์นั้น ทั้งมารีและปิแอร์สาละวนเทสินแร่พิตช์เบล็นด์ (pitchblende) ที่สกัดให้บริสุทธิ์แล้วลงในชามสำหรับเคี่ยวระเหยใบที่เหลือว่างอยู่จากจำนวนทั้งหมดราว 6,000 ใบ มารีเชื่อว่าสินแร่สีดำนี้มีธาตุใหม่ซึ่งมีพลังงานอยู่ภายใน สามารถแผ่รังสีทำลายเนื้อร้ายในร่างกายได้ เธอจึงนำพิตช์เบล็นด์มากรองแล้วกรองอีกโดยหวังว่าจะพบธาตุใหม่ตกผลึกอยู่ในชาม
เมื่อคนทั้ง 2 กลับบ้านในเย็นวันนั้น ยังไม่มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น แต่ก่อนเข้านอน มารีก็ตัดสินใจย้อนกลับไปดูอีกครั้ง เธอกับสามีเร่งรีบไปตามถนนที่มีแสงไฟริบหรี่
เมื่อเข้าไปในโรงที่มืด มีโต๊ะไม้ตั้งอยู่เป็นแถว และเครื่องมือห้องทดลองรวมอยู่เป็นกลุ่ม มารีขอมิให้
ปิแอร์จุดตะเกียง คนทั้ง 2 เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง และพบว่ามีรัศมีเรืองออกมา จากข้างในชามเล็กที่ครอบไว้ด้วยแก้ว มารีหันไปหาสามีและพูดเรียบ ๆ ว่า “คุณจำได้ไหมที่บอกฉันว่า “ผมอยากให้เรเดียมมีสีที่สวยงาม” ดูสิ ดูสิ!”
ชามซึ่งเรียงรายอยู่บนโต๊ะและหิ้งบนฝาผนังต่างเปล่งแสงเรืองสีม่วงแกมฟ้าจาง ๆ มารีเฝ้าดูแสงเรืองนั้นด้วยความรู้สึกอัศจรรย์เกินกว่าจะบรรยาย ภายหลังอีฟ กูรี บุตรสาวของเธอได้เขียนว่า “นับแต่นั้นมา คุณแม่ก็ต้องจดจำคืนที่เห็นเจ้าแสงเรืองเหมือนตัวหนอนกระสือนี้ไปชั่วกาลนาน”